ระบบการศึกษาในอิตาลี

ระบบการศึกษาในอิตาลี

ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมของอิตาลีจัดขึ้นตามหลักการของการสนับสนุนและการปกครองตนเองของสถาบันการศึกษา รัฐมีอำนาจพิเศษในการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการศึกษา กำหนดระดับบริการที่จำเป็น และรับประกันความเท่าเทียมทั่วถึงทั้งประเทศ

ตามมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญอิตาลีกำหนดหลักการพื้นฐานสองประการ ดังนี้ 1. ภาระผูกพันของรัฐในการเสนอระบบโรงเรียนของรัฐแก่เยาวชนทุกคน 2. สิทธิสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในการสร้างโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ซึ่งทำให้สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนเอกชน ได้รับการรับรองให้มีคุณสมบัติทางกฎหมายเทียบเท่ากับโรงเรียนของรัฐ มีอิสระอย่างเต็มที่ในเรื่องเกี่ยวกับการวางกฎระเบียบข้อบังคับและแนวทางการเรียนการสอน

ระบบการศึกษาในประเทศอิตาลีแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ

1. การศึกษาไม่บังคับ (แต่หน่วยงานท้องถิ่นของทั้งภาครัฐและเอกชนอาจจัดให้มีการบริการศึกษาสำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)

2. การศึกษาภาคบังคับ ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย (โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชนที่ได้รับการรับรองหลักสูตรเท่าเทียมกัน รวมถึงสถาบันเทคนิค สถาบันวิชาชีพ และสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ )

3. การศึกษานอกภาคบังคับ ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป

ซึ่งทั้งสามประเภทนี้อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ MIUR และ กระทรวงมหาวิทยาลัยและการวิจัย MUR ในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาในสังกัด

ส่วนการฝึกอบรมวิชาชีพจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในภูมิภาคแต่ละท้องถิ่น รัฐยังกำหนดหลักการกฎเกณฑ์พื้นฐานที่ภูมิภาคท้องถิ่นต้องปฏิบัติตาม ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจนิติบัญญัติในเรื่องจัดการการศึกษาและอำนาจพิเศษในเรื่องของการฝึกอบรมสายอาชีพ

การศึกษาไม่บังคับ

รวมระยะเวลา 6 ปี (ตั้งแต่ 0 - 6 ปี) แบ่งเป็น

1. ศูนย์อภิบาลและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก ซึ่งจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่น ทางตรงหรือผ่านการกำหนดข้อตกลงจากหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนซึ่งรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือน - 3 ปี

2. โรงเรียนอนุบาล (Scuola dell’Infanzia)ซึ่งจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่น ทางตรงหรือผ่านการกำหนดข้อตกลง จากหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน รับเด็กอายุระหว่าง 3 - 6 ปี

การศึกษาภาคบังคับ

การศึกษาภาคบังคับไม่มีค่าใช้จ่าย โดยรัฐบาลจัดการการศึกษาที่มอบให้แก่ประชาชนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี สำหรับผู้เรียนในกลุ่มอายุระหว่าง 6 ถึง 16 ปี การศึกษาภาคบังคับมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาได้บรรลุวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายหรือคุณวุฒิวิชาชีพอย่างน้อย 3 ปีเมืออายุครบ 18 ปี สถาบันการศึกษาภาคบังคับนี้ ประกอบไปด้วย โรงเรียนของทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการฝึกอาชีพที่ได้รับการรับรอง รวมถึงการศึกษานอกระบบแบบ Home School

นอกจากนี้สำหรับเยาวชนทุกคน มีสิทธิและหน้าที่ต้องเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรม มีผลบังคับใช้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ปี หรือไม่ว่าในกรณีใด ๆ จนกว่าจะบรรลุคุณวุฒิวิชาชีพสามปีภายในอายุ 18 ปีตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ผู้ปกครองของนักเรียน หรือใครก็ตามที่รับผิดชอบแทนผู้ปกครอง มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามข้อผูกพันด้านการให้ความรู้แก่ผู้เยาว์ ในขณะที่เทศบาลท้องถิ่น และครูใหญ่ของโรงเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อผูกพันของนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียน

ระดับการศึกษาขั้นที่หนึ่ง 

1 โรงเรียนประถมศึกษา (Scuola Primaria) ระยะเวลา 5 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 6 ถึง 11 ปี

โรงเรียนประถมศึกษา (Scuola Primaria) ซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับเด็กชาวอิตาเลียนและชาวต่างชาติที่มีอายุครบ 6 ปีภายในวันที่ 31 ธันวาคม ระยะเวลาตามหลักสูตร 5 ปี มีการแบ่งเป็นสองภาคการศึกษา ในระหว่างการเรียนการสอนระยะเวลา 5 ปีนี้ ไม่มีการสอบปิดภาคการศึกษา และไม่มีการสอบจบปีการศึกษา จะเน้นการสอบเก็บคะแนนหลังจบบทเรียนรายวิชา รวมทั้งการทำรายงานและกิจกรรมในชั้นเรียน ไม่ค่อยเน้นทำการบ้านมากนัก

2 โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (Scuola Secondaria di Primo Grado)  ระยะเวลา 3 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 11 ถึง 14 ปี

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น (Scuola secondaria di primo grado) เป็นโรงเรียนในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ระยะเวลาตามหลักสูตร 3 ปี  กำหนดให้เด็กชาวอิตาเลียนและชาวต่างชาติทุกคนที่เรียนจบหลักสูตรประถมศึกษาสามารถสมัครเข้าเรียนต่อได้ นักเรียนอายุตั้งแต่ 11 ถึง 14 ปีให้การศึกษาเชิงลึกลงไปในหัวข้อที่เรียนไปแล้วจากโรงเรียนประถมศึกษา เพิ่มวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และภาษาต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาษานอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่เรียนมาแล้วจากระดับประถมศึกษา โปรแกรมการศึกษาตามหลักสูตรเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเหมือนกันทุกสถาบัน ตารางเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นประกอบด้วยแผนรายสัปดาห์ 2 แผน: แผน 30 ชั่วโมง(เวลาปกติ) และแผน 36 ชั่วโมง (ขยายเวลา) มีการกำหนดจำนวนคงที่ 99 ชั่วโมงต่อปี (3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) สำหรับภาษาอังกฤษเท่านั้น และ 66 ชั่วโมงต่อปี (2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) สำหรับเทคโนโลยี วิชาทั้งหมดที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ มีดังนี้

ชื่อวิชา จำนวนชั่วโมง/สัปดาห์
ภาษาอิตาเลียน 6
ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ 3
วรรณคดีศึกษา 1
คณิตศาสตร์ 4
วิทยาศาสตร์ 2
เทคโนโลยี 2
ภาษาอังกฤษ 3
ภาษาต่างประเทศที่สอง (ภาษาสเปน ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน ) 2
ศิลปะ 2
ดนตรี 2
การออกกำลังกายและวิทยาศาสตร์การกีฬา 2
ศาสนาคาทอลิกหรือกิจกรรมทางเลือก 1

หมายเหตุ วิชาศาสนาคาทอลิกนี้สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นๆ สามารถเลือกทำกิจกรรมวิชาอื่นทดแทนได้ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรพิเศษทางดนตรี สำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนและฝึกฝนทักษะทางดนตรีและเลือกเครื่องดนตรีที่สนใจจะฝึกซ้อม มีการสอบหลังจบการศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้

หลังเรียนครบหลักสูตรในปีที่ 3 จะต้องสอบวัดระดับการศึกษาตามหลักสูตรขั้นต้นต้องสอบทั้งข้อเขียนและสอบปากเปล่า เมื่อสอบผ่านก็สามารถไปเรียนต่อในหลักสูตรมัธยมปลายหรือสายอาชีวศึกษาต่อได้ ก่อนจะถึงขั้นตอนนี้ตั้งแต่ปิดเทอมภาคแรกของปีการศึกษาที่สาม นักเรียนจะต้องทำการเลือกโรงเรียนมัธยมปลายหรือสถาบันการศึกษาอื่นไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วค่ะ เพื่อให้มีที่นั่งเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในประเทศอิตาลีนี้จะรับสมัครภายในระบบ ผ่าน การสมัครทางออนไลน์ ของกระทรวงศึกษาธิการเลยค่ะ โดยประกาศข่าวการรับสมัครตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม และเริ่มเปิดระบบให้ส่งใบสมัครตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมเท่านั้น สามารถเลือกโรงเรียนได้ทั้งหมด 3 อันดับ จากนั้นโรงเรียนที่ถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่งจะเข้ามาดูคุณสมบัติผู้สมัครในระบบและตอบรับกลับมาภายใน 3 วันหลังจากวันหมดเขตรับสมัคร ในกรณีที่โรงเรียนมัธยมปลายตอบรับแล้วแต่สุดท้ายสอบไม่ผ่านระดับการศึกษามัธยมต้น ก็ถือว่าเป็นโมฆะต้องสละสิทธิ์ที่นั่งและเรียนซ้ำชั้นมัธยมปีที่สามที่โรงเรียนเดิมและสอบให้ผ่านก่อน

ระดับการศึกษาขั้นที่สอง

หลักสูตร 3 - 5 ปี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. มัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตร 5 ปี (ช่วงอายุระหว่าง 14 ถึง 19 ปี)

หลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับนักเรียนที่สามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางการเรียนระดับการศึกษาขั้นที่สองได้นั้น จะต้องสอบผ่านสำเร็จการศึกษาระดับขั้นที่หนึ่ง และได้รับประกาศนียบัตรจบมัธยมศึกษาตอนต้นระยะเวลาการศึกษา 5 ปี (แม้ว่าสถาบันอาชีวศึกษา บางแห่ง จะมอบประกาศนียบัตรวิชาชีพหลัง 3 ปีก็ตาม)

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมตอนปลายสายวิชาการ สถาบันเทคนิค และสถาบันวิชาชีพ เป็นต้น

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทุกแห่งมีการศึกษาวิชาพื้นฐานร่วมกัน ในขณะที่วิชาเฉพาะสำหรับบางหลักสูตร (เช่นภาษากรีกโบราณในโรงเรียนมัธยมคลาสสิก วิขาเศรษฐศาสตร์ในสถาบันเทคนิคเศรษฐกิจ หรือทัศนียภาพในโรงเรียนมัธยมศิลปะ )

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประกอบด้วยรูปแบบหนึ่งของโรงเรียนมัธยมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนได้รับการเตรียมตัวที่ดีพร้อมคุณค่าทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ด้วยการฝึกอบรมเชิงทฤษฎีอย่างกว้างขวางในมนุษยศาสตร์ (วรรณคดีประวัติศาสตร์และปรัชญา)ในวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ( คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ) และในบางสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ( ศิลปะวิทยาการคอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติสังคมศาสตร์)

หลักสูตรการศึกษาแต่ละหลักสูตรประกอบด้วยการสอบปลายภาคที่เรียกว่าการสอบปลายภาค ซึ่งจำเป็นต่อการได้รับอนุปริญญาและมีสิทธิ์เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป การสอบจะเกิดขึ้นทุกปีระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ดังนั้นจึงสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทะเบียนเรียนต่อขั้นสูงในระดับอุดมศึกษา โรงเรียนมัธยมแยกหลักสูตรเฉพาะทางแยกเป็น 3 สาย ดังนี้

สายวิชาการ

- โรงเรียนมัธยมศิลปะ Liceo artistico

สอนวิชาทั่วไปในสองปีแรก, และสอนวิชาเลือกเฉพาะในสามปีที่เหลือ, มุ่งเน้นไปที่ธีมศิลปะ, ภายใต้โปรไฟล์เชิงทฤษฎี, ประวัติศาสตร์และการปฏิบัติ, ในบรรดาวิชานั้นรวมถึงการวาดภาพ, ประติมากรรม , การตกแต่ง ,กราฟิก ,การออกแบบ ,โสตทัศศึกษา และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสาขาย่อยและแผนการเรียนรายวิชา>>>คลิกที่นี่<<<

- โรงเรียนมัธยมคลาสสิก Liceo classico

ศึกษาด้านมนุษยนิยม รวมถึงภาษาละตินกรีกโบราณอิตาลี ประวัติศาสตร์และปรัชญาเป็นวิชาหลักในการศึกษา ดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรและแผนการเรียนรายวิชา>>>คลิกที่นี่<<<

- โรงเรียนมัธยมด้านภาษาศาสตร์ Liceo linguistico

เน้นการศึกษาวัฒนธรรมและภาษาต่างประเทศสมัยใหม่ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน โดยล่าสุดเน้นที่ภาษารัสเซียอาหรับและจีน ดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรและแผนการเรียนรายวิชา>>>คลิกที่นี่<<<

- โรงเรียนมัธยมศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์ Liceo musicale e coreutico

หลักสูตรมักจะมุ่งเน้นวิชาดนตรี ประวัติศาสตร์การดนตรี นาฏศิลป์ และการออกแบบนาฏกรรม ดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสาขาย่อยและแผนการเรียนรายวิชา>>>คลิกที่นี่<<<

- โรงเรียนมัธยมวิทยาศาสตร์ Liceo scientifico มัธยมวิทยาศาสตร์ประยุกต์ Liceo scientifico opzione scienze applicate และมัธยมวิทยาศาสตร์การกีฬา Liceo scientifico – sezione a indirizzo sportivo

เน้นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมร่วมกับโรงเรียนมัธยมคลาสสิก แต่จะเน้นไปทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์โลก และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มากกว่า

- โรงเรียนมัธยมมนุษยศาสตร์ Liceo delle scienze umane และ มัธยมมนุษยศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม Liceo delle scienze umane opzione economico-sociale

เป็นหลักสูตรที่เพิ่งเปิดขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ โดยเน้นไปที่มนุษยศาสตร์เป็นหลัก เช่น ครุศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา และสังคมวิทยา เข้ามาแทนที่โรงเรียนมัธยมสังคมวิทยาก่อนหน้านั้น

สถาบันเทคนิค Istituti Tecnici

สถาบันเทคนิค เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทหนึ่งที่เน้นด้านเทคนิค  เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างมีเหตุผล และเหมาะสม ลักษณะทั่วไปของหลักสูตรการฝึกอบรมของสถาบันเทคนิค เป็นการศึกษาเชิงทฤษฎีที่หลากหลาย โดยเน้นไปยังสาขาวิชาเฉพาะ (เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์การบริหารกฎหมายการท่องเที่ยว)

สถาบันเทคนิคมีความแตกต่างจากสถาบันวิชาชีพทั้งระยะเวลาของหลักสูตรการศึกษา 5 ปี และการดำเนินการร่วมกันระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งรับประกันพื้นฐานที่ช่วยให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แบ่งเป็น 2 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่ละสถาบันมีระยะเวลาการเรียนการสอน 5 ปี โดยในระยะเวลา 2 ปี ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปเบื้องต้น และระยะเวลา 3 ปีศึกษาวิชาเฉพาะ

ในช่วงปีที่ 5 และปีสุดท้ายของการศึกษาในสถาบันเทคนิค จะเสริมด้วยการฝึกภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 3 - 6 เดือน กับบริษัท สมาคม หรือมหาวิทยาลัย สถาบันทางเทคนิคที่ได้รับอนุญาตให้เข้ากับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งหมดในบรรดาสถาบันทางเทคนิค ได้แก่

- สถาบันทางเทคนิคทางเศรษฐกิจ - เน้นทางวิทยาศาสตร์เศรษฐศาสตร์และการจัดการ โดย เปิดสอนการศึกษาเชิงทฤษฎีที่หลากหลายโดยมุ่งเน้นเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ กฎหมายสังคมศาสตร์ การบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การท่องเที่ยว

- สถาบันเทคโนโลยี -  เน้นทางเทคโนโลยี เครื่องยนต์กลไก พลังงาน  อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การขนส่งและคลังสินค้า เคมี เทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน

สถาบันวิชาชีพ Istituti Professionali

สถาบันวิชาชีพ เป็น โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากสถาบันเทคนิคในแง่ที่จำเป็นต้องสอบ เพื่อจะได้รับคุณวุฒิระดับภูมิภาคหลังจากเรียนจบปีที่ 3 และเมื่อศึกษาต่อจนถึงปีที่ 5 จะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งทำให้สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาทุกแห่ง

การศึกษาแตกต่างจากโรงเรียนมัธยมและสถาบันทางเทคนิค สถาบันวิชาชีพนี้มีการฝึกอบรมวิชาทั่วไปน้อยกว่าและมีการฝึกอบรมเฉพาะทางมากกว่า มีโครงสร้างเฉพาะและมีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรมด้านการปฏิบัติงานจริงของนักเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดแรงงานโดยตรง รูปแบบการศึกษามุ่งเน้นวิชาปฏิบัติ และช่วยให้นักเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันทีที่พวกเขาสำเร็จการศึกษาแล้ว (ในบางกรณีอาจเร็วกว่านั้น เนื่องจากบางหลักสูตรเปิดสอนประกาศนียบัตรวิชาชีพหลังจากผ่านไปเพียง 3 ปีแทนที่จะเป็น 5 ปี) หลักสูตรมีความเฉพาะเจาะจง เช่น การเกษตร อาหาร ช่างเทคนิค ช่างไม้ และอื่นๆ แบ่งเป็นสองภาค ส่วนหนึ่งสำหรับภาคบริการ และอีกภาคหนึ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมและหัตถกรรม

2. สถาบันอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Istrizione e Formazione Professionale - IeFP)

ควบคู่ไปกับสถาบันวิชาชีพที่บริหารจัดการโดยรัฐคือ หลักสูตรอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมระดับภูมิภาคท้องถิ่น ระยะเวลาศึกษา 3 และ 4 ปี จัดขึ้นโดยหน่วยงานภูมิภาคท้องถิ่น เพื่อฝึกฝนทักษะเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยตรง มุ่งเป้าไปที่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับขั้นการศึกษาที่หนึ่ง (มัธยมศึกษาตอนต้น) โดยปีที่ 3 จะออกใบรับรองวิชาชีพ และปีที่ 4 จะออกประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลังจากปีที่สี่ เป็นไปได้ที่จะลงทะเบียนเรียนในชั้นเรียนปีที่ห้าของสถาบันวิชาชีพ เพื่อรับประกาศนียบัตรการศึกษาวิชาชีพของรัฐ และยังสามารถใช้สมัครเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยต่อไปได้อีกด้วย

การศึกษานอกบังคับ

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับ ประมาณชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือระดับการศึกษาขั้นที่สอง หลังจากผ่านการสอบขั้นสุดท้ายของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว หากนักเรียนไม่ศึกษาต่อระดับสูงต่อไป ก็จะมีการออกใบประกาศนียบัตรรับรองทักษะคุณวุฒิที่ได้รับ (กฤษฎีกากระทรวง 139 ปี 2007) นักเรียนจะสามารถเข้าถึงหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ (มหาวิทยาลัย AFAM และ ITS) หลักสูตรของมหาวิทยาลัยบางหลักสูตรรับจำนวนจำกัด และเรียนจะต้องผ่านการทดสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษา

1. หลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนโดยมหาวิทยาลัย (Università)

2. หลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนโดยสถาบันการศึกษาศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์ระดับสูง (Alta Formazione Artistica, Musicale e Coreutica - AFAM)

3. หลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนโดยสถาบันเทคนิคระดับสูง (Istituti Tecnici Superiori - ITS)

ระบบการศึกษาของประเทศอิตาลี มีความหลากหลายจนเลือกเรียนแทบไม่ถูกกันเลยใช่ไหมคะ? บทความต่อๆ ไป จะเจาะสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรการศึกษาไหนบ้าง อดใจรออ่านกันนะคะ

 

หมายเหตุ รวบรวมและเรียบเรียงจากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการอิตาลี Ministero dell'Istruzione e del Merito - MIUR

  • by จิรัชฌา วานิช
  • | Study in Italy